Diary

" ตัวฉันในอดีต ปัจจุบัน อนาคต "
            ย้อนหลังไปเท่าที่จะจำความได้ในบ้านของผมมีคุณตา คุณยาย พ่อ แม่ พี่สาวคนโต พี่ชาย และตัวผมประมาณพ.ศ.2536ผมเข้าโรงเรียนอนุบาล1พ่อก็ซื่อรถกะบะ1 คันเพื่อใช้ในการเดินทางไปทำงานและไปส่งพี่ๆกับผมที่โรงเรียนในรถพ่อชอบเปิดเทปหนังตะลุงฟังเป็นประจำ ผมก็ชื่นชอบทั้งน้ำเสียงของตัวตลกมุขตลก พอกลับถึงบ้านตอนเย็นผมก็จะไปช่วยคุณตาพาวัวกลับเข้าคอกและให้อาหารไก่ รดน้ำผัก ต้นไม้บริเวณบ้าน หลังจากนั้นก็ อาบน้ำ ทำการบ้าน ทานข้าว และ ดูทีวี ผมชอบนอนกับคุณตา คุณยายเพราะท่าน จะชอบเล่านิทานพื้นบ้านใหฟังก่อนนอนทุกคืน เช่น เรื่องสามเกลอ ประวัติจังหวัดพัทลุงตลอดจนถึงการฝึกให้ท่องจำซึ่งเป็นคาถาให้เด็กเรียนเก่งในสมัยก่อน เรียกว่า (สัดดี)
ตัวอย่าง (ท่องเป็นภาษาใต้)
ข้าไหว้สัดดี ปัญญาพาที สอนข้าให้งาม วาดเขียนเรียนธรรม รู้จักทำตาม ขออย่ามีความ ค่ำเช้าหุ้มหอ ข้าไหว้คุณแม่ เลี้ยงลูกไว้แหล้ อีกทั้งคุณพ่อ ลูกน้อยขอเรียน นะโมกอข้อ คุณแม่คุณพ่อ คุณพิทักษ์รักษา อินทรีย์ทั้งห้า ข้าเสียให้ตาย โมโหงมงาย ใจร้ายอย่ามี พุทธัง ธัมมัง สังฆังข้าเอย อย่าพลั้งลืมเหลย จำจิต จำใจ จำ จำ จำ หัวใจดำจำแล้วอย่าลืม
แล้วผมก็นอนหลับพร้อมกับความอบอุ่นของคุณตา คุณยาย ตื่นเช้าก็อาบน้ำแต่งตัว ก่อนไปโรงเรียน ก็ใส่บาตรทุกเช้า เวลาวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ตอนเช้าก็จะไปอยู่ที่วัดเพื่อช่วยถือของพระเวลาพระไปบิณฑบาตร กลับมาก็กินขนมที่พระท่านให้หลังจากที่ท่านฉันท์เสร็จ เวลาว่างๆผมก็จะกวาดลานวัด ทำอยู่เช่นนั้นประมาณ 8 ปี พ.ศ.2544 ( ป.5 ) คุณป้าที่อยู่จังหวัด พัทลุง ก็มารับคุณตา คุณยายไปช่วยเลี้ยงหลานที่พัทลุง ก็เหลือผม พ่อ แม่ พี่สาวคนโต และ พี่ชาย ตอนนั้นผมรู้สึกเหงามาก ไม่รู้จะทำอะไร จนวันหนึ่งผม และครอบครัวได้เดินทางไปจังหวัด นครศรีธรรมราช ไปเที่ยวที่ วัดพระธาตุ ไปไหว้พระ และ ไปเดินชมสินค้าต่างๆ แล้วผมก็เห็นรูปหนังตะลุง ผมชอบมาก จึงให้แม่ซื้อให้ ได้มา 2 รูปคือ รูปเท่ง กับ หนูนุ้ย ตอนนั้นราคาตัวละ 10 บาท เมื่อผมกลับมาถึงบ้าน จากที่เคยเล่นของเล่นอื่นๆ ก็หันมาเล่นหนังตะลุงแทน ในช่วงนั้นผมชอบหนังตะลุงมาก จึงฟังเทปหนังตะลุงของ อาจารย์ณรงค์และหนังสุทิพย์ ทุกวันจึงเริ่มเลียนเสียงของตัวตลกได้ทุกรูปพ่อก็เลยซื้อรูปหนังตะลุงมาให้อีกหนึ่งรูปคือรูปฤาษีพ่อบอกว่าการเล่นหนังตะลุงของแต่ละคณะจะต้องออกรูปฤาษีก่อนเสมอ ต่อจากนั้นประมาณ พ.ศ. 2546 ผมขึ้นม.1พ่อผมพาไปฝากให้เป็นศิษย์ของ หนังอาจารย์ณรงค์  ตะลุงบัณฑิต ผมดีใจมาก จึงหัดเล่นกับจอหนังตะลุงจริง ๆ ที่นายหนังไม่ใช้แล้ว ได้มาจาก หนังคลิ้งน้อย ตะลุงสากล ซึ่งเป็นญาติฝ่ายเขย จนวันหนึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนเห็นความสามารถในการเล่นหนังตะลุงของผม จึงบอกให้ผมไปเล่นที่งานสานฝัน พัฒนาผู้เรียน ผมจึงชวนเพื่อนอีกหนึ่งคนให้มาเป็นนักดนตรี เล่นคีย์บอร์ด จนถึงวันของการแสดง ผมกับเพื่อนเดินทางไปถึงงาน ปรากฎว่าผมไม่ได้เล่น เพราะ มีอาจารย์ท่านหนึ่งไม่เห็นความสำคัญของศิลปการแสดงชิ้นนี้ ท่านเอาพื้นที่ ที่ผมใช้เล่นหนังตะลุง ใช้โชว์ผลงานของตัวเอง จนทำให้ผมเสียใจมาก ถึงกับทำให้ผมหยุดเล่นหนังตะลุง ไปพักหนึ่งแต่ก็ยังชอบฟัง เพียงแค่ไม่อยากเล่นด้วยตนเอง เพราะ น้อยใจที่เขาไม่เห็นความสำคัญของผมแต่เหมือนโชคชะตากำหนดมาให้ผมเป็นนายหนังตะลุง ช่วงนั้นผมอยู่ ม.5 (พ.ศ.2550)ทำให้ผมได้พบกับเพื่อน ที่ชอบดูหนังตะลุงเช่นกัน จึงผลักดันให้ผมเล่นหนังตะลุงอีกครั้ง โดย เค้าอาสาว่าจะหานักดนตรีหนังตะลุงให้เอง ตอนนั้นผมยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเล่น แต่ด้วยความพยายามของเพื่อนผม ทำให้ผมตัดสินใจเล่นหนังตะลุงอีกครั้ง ในงานแนะแนวอาชีพภายในโรงเรียนในวันนั้น ก็สามารถเรียกเสียงเฮฮาจากอาจารย์ และ เพื่อน ๆ ได้ จึงทำให้ผมมีกำลังใจในการเล่นหนังตะลุงครั้งต่อไป ผมจึงพาเพื่อนของผมไปพบหนังอาจารย์ณรงค์ที่บ้าน เพื่อให้เป็นศิษย์ของท่านด้วย ตั่งแต่วันนั้นผมกับเพื่อน ก็ติดตาม หนังอาจารย์ณรงค์ ไม่ว่าท่านแสดงที่ไหนถ้าพวกผมมีเวลาว่างก็จะไปเที่ยวกับท่านด้วย หนังอาจารย์ณรงค์ ท่าน เป็นคนดีมาก เป็นคนที่มีความรู้หลากหลาย ท่านเปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม ให้ศิษย์ทุกคนมีธรรมะและเป็นศิลปินที่ดีของสังคม
ปัจจุบัน
ผมศึกษาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ สาขา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ชั้นปีที่ 4 ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าๆในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาผมทำหน้าที่ศิลปินหนังตะลุงมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ได้เข้าร่วมงานแสดงต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยให้ไปแสดง เช่น งานศิลปวัฒนธรรมของ ม.อ.ปัตตานี งานปิดโลกกิจกรรม งานกีฬา 5 วิทยาเขต ที่ ม.อ.หาดใหญ่ ฯลฯ และสำหรับเรื่องการเรียนก็อยู่ในระดับปานกลาง เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 2 กว่า ๆ ก็อย่างว่าเรียนไปด้วยทำกิจกรรมไปด้วยแต่ก็ไม่ทำให้เสียการเรียน เพราะเน้นการเรียนเป็นหลัก ตอนนี้ผมได้เปิด ชมรมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้โดยผมเป็นประธานชมรม
อนาคต
ตั้งใจว่าจะจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ตามหลักสูตรที่เรียน มีงานทำที่มั่นคง หรือ อาจจะเรียนต่อ ปริญญาโท และ เป็นศิลปินที่ดีจะคอยส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต ้เป็นตัวอย่างแก่เยาวชนคนรุ่นหลังสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น